วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทศกาลงานประเพณีเมืองพิจิตร



  การแข่งขันเรือยาวประเพณี
         
           จัดเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และจัดมานานแล้ว มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากจังหวัดพิจิตรมีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน อีกทั้งมีน้ำไหลหลากเป็นประจุกปีตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำและมีเรือประจำวัด จะจัดให้มีการแข่งขันเรือยาวพร้อมจัดงานปิดทองไหว้พระไปด้วย เรือที่จัดให้มีการแข่งขัน ได้แก่ เรือยาวที่มีขนาดฝีพายต่างๆ เรือบด เรือหมู เรืออีโปง เรือเผ่นม้า ฯลฯ บางวัดจดงานแข่งเรือฉลององค์กฐินประจำปีไปด้วย

            จังหวัดพิจิตรมีงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดแข่งขันในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน เป็นประจำทุกปี โดยจัดที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

            การแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัดท่าหลวงฯ เริ่มจัดเมื่อประมาณ พ.ศ.2450 โดยพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงฯ และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรเป็นผู้ริเริ่มแล้วได้จัดติดต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยของพระฑีฆทัสสีมุนีวงศ์ (ไป๋ นาควิจิตร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร จึงได้กำหนดจัดงานแข่งขันเรือยาวตามวันทางจันทรคติ ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ต่อมาน้ำในแม่น้ำน่านแห้งเร็วไม่เหมาะต่อการแข่งเรือ จึงเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับช่วงงานปิดทองไหว้พระนมัสการหลวงพ่อเพชร

            เดิมกรรมการวัดเป็นผู้จัดทำรางวัลการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นของอุปโภคบริโภค เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ผ้าขาวม้า น้ำมันก๊าด ส่วนรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปครอง ซึ่งถือว่าเป็นศิริมงคลกันเรือและเทือกเรือ (ฝีพาย) โดยนำไปพันไว้ที่โขนเรือของตน ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาว่า ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรเป็นของสูงการนำผ้าไปพันบนโขนเรือไม่เหมาะสมจึงยกเลิก แล้วจัดธงที่มีรูปหลวงพ่อเพชรไปเป็นรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศแทน ต่อมาก็ทำธงมอบให้แก่เรือที่ร่วมเข้าแข่งขันทุกลำ

            การแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตรที่จัด ณ วัดท่าหลวงฯ ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ คือ เพิ่มวันแข่งขันจากหนึ่งวันมาเป็นสองวัน จัดให้มีการแข่งขันเรือยาว 2 ขนาดคือเรือยาวใหญ่และเรือยาวเล็ก      ต่อมาได้ขยายวันแข่งขันเป็น 3 วัน เนื่องจากมีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นและได้เพิ่มขนาดของเรือแข่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ เรือยาวใหญ่ (ฝีพายไม่เกิน 55 คน) เรือยาวกลาง (ฝีพายไม่เกิน 40 คน) และเรือยาวเล็ก (ฝีพายไม่เกิน 30 คน) และเพิ่มเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท ก (ฝีพายจัด) ประเภท ข (เป็นเรือชุดใหม่ หรือเรือฝีพายปานกลาง)        ปัจจุบันได้เปลี่ยนวันแข่งขันจากวันทางจันทรคติ มาเป็นทางสุริยคติ โดยกำหนดจัดแข่งขัน ในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายนทุกปี

            ในวันเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีจะจัดให้มีขบวนพาเหรดเรือของแต่ละอำเภอประเภทต่างๆ ได้แก่ เรือประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทตลกขบขัน และยังมีการประกวดกองเชียร์ของเรือแต่ละลำด้วย กลางคืนจะจัดให้มีมหรสพให้ชมฟรี

            ใน พ.ศ.2524 จังหวัดร่วมกับพ่อค้าประชาชน วัดท่าหลวงฯ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ นับว่าเป็นถ้วยพระราชทานแห่งเดียวและแห่งแรกในขณะนั้น โดยกำหนดว่าหากเรือลำใด ครองถ้วยพระราชทานติดต่อกัน ครบ 3 ครั้ง จะได้รับถ้วยนั้นไปครอง ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร ได้เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันมาเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดร่วมกันสมาคมส่งเสริมกีฬาจังหวัดพิจิตร ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตรและองค์กรต่าง ๆ

            แนวทางการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร มีดังนี้

            1. สนามแข่งขัน จัดแข่งขัน ณ แม่น้ำน่านหน้าวัดท่าหลวงพระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร ระยะทางการแข่งขัน 650 เมตร จัดแข่งขันโดยแบ่งร่องน้ำออกเป็น 2 ลู่ และทุกระยะทาง 220 เมตร จะมีธงสัญญาณกำหนดลู่ร่องน้ำ รวม 3 จุด การปล่อยเรือออกจากทุ่น จะถือเอาปลายสุดของโขนเรือเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องให้ได้แนวเท่ากัน และประมาณ 3 เมตร ปักอยู่ตรงฝั่งกรรมการจะมีเชือกสีที่เห็นได้ชัดทิ้งดิ่งให้ได้ฉากกับเสาที่อยู่ตรงข้ามเชือกนี้จะต้องตรึงให้อยู่กับที่          และใช้กล้องวีดิทัศน์จับภาพการเข้าเส้นชัยทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสิน ในกรณีที่สูสีกันมาก ๆ

            2. ลักษณะของเรือยาว จะต้องเป็นเรือขุดจากไม้ทั้งต้น ความยาวไม่จำกัด แต่จะจำกัดจำนวนฝีพายที่จะลงแข่งขันในประเภทนั้น ๆ และผู้เข้าแข่งขันจะต้องเตรียมเรือ ใบพายตลอดจนเทือกเรือ (ฝีพาย) มาเอง

            3. ขนาดเรือ แบ่งออกเป็น 3 ขนาด โดยกำหนดจำนวนฝีพายเป็นเกณฑ์ ดังนี้
                  เรือยาวใหญ่              ฝีพายไม่เกิน        55         ฝีพาย
                  เรือยาวกลาง              ฝีพายไม่เกิน        40         ฝีพาย
                  เรือยาวเล็ก                ฝีพายไม่เกิน        30         ฝีพาย
                 ในแต่ละประเภทและขนาดจะจับฉลากพบกัน แข่งขันแบบหาผู้ชนะเข้ารอบสอง แล้วจะจัดให้เรือที่ชนะในรอบแรกเป็นเรือประเภท ก และเรือที่แพ้จะจัดให้อยู่ในเรือประเภท ข แล้วแข่งขันในประเภทของตนเองจนจบการแข่งขัน และได้เรือที่ชนะเลิศ

            4. การสมัครเข้าแข่งขัน เรือทุกลำจะสมัครได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น และจะต้องจับฉลากประกบเรือตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

            5. การเปรียบเรือ  ผู้แทนหรือผู้คุมเรือจะต้องจบฉลากประกบคู่เรือ และสายน้ำ ตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเปรียบเรือ

            6. จำนวนผู้ร่วมแข่งขัน เรือแต่ละลำจะส่งจำนวนฝีพายเข้าสมัครแข่งขันเท่าไรก็ได้ แต่เวลาลงเรือต้องเป็นไปตามที่กำหนดขนาดประเภทเรือ และในการพายแต่ละคู่สามารถเปลี่ยนตัวได้ตลอด

            7. ข่งขัผลการแน กำหนดแข่งขัน 2 เที่ยว โดยเปลี่ยนร่องน้ำทุกครั้ง หากผลชนะกันคนละเที่ยว จะจับสลากสายน้ำใหม่เพื่อแข่งขันในเที่ยวที่ 3 ถ้าผลออกมาเสมอกันอีกจะใช้วิธีการจับสลาก (กติกาการแข่งขันขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแข่งขันจะกรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่เรือเข้าร่วมแข่งขันทุกลำ)

            เรือที่เคยได้รับถ้วยพระราชทานไปครองเป็นกรรมสิทธิ์ เนื่องจากชนะเลิศ 3 ปี ติดต่อกันมีดังนี้

            เรือเทพนรสิงห์ 88 ประเภทเรือยาวใหญ่ จากวัดเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2534 – 2536
            เรือประกายเพชร ประเภทเรือยาวกลาง จากวัดวังจิก   อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2524 - 2526

            เรือเพชรชมพู ประเภทเรือยาวกลาง จากวัดบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2529 – 2531

            เรือเลิศลอยฟ้า ประเภทเรือยาวเล็ก จากวัดหาดมูลกระบือ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2524 – 2527

            เรือเทพนครชัย ประเภทเรือยาวเล็ก จากวัดประชานาท อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2531 – 2533




   งานประเพณีกำฟ้า

            งานประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งของลาวพวนบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการบูชาหรือเคารพเทวดาฟ้าดิน เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีบูชาขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟ้าแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อกันว่าเสียงฟ้าร้องคือ “สัญญาณฟ้าเปิดประตูน้ำ” เพื่อให้ชาวนา ชาวไร่ มีน้ำประกอบอาชีพเกษตรกรรม การพยากรณ์เสียงฟ้าร้องของลาวพวนมีดังนี้

            เสียงฟ้าร้องมาจากทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พยากรณ์ว่าฝนจะดีมีน้ำเพียงพอ พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ประชาชนจะมั่งมีศรีสุข ถ้าฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ฝนจะตกน้อย เกิดความแห้งแล้งพืชผลได้รับความเสียหาย ถ้าฟ้าร้องเสียงดังมาจากทิศตะวันออก ฝนจะตกปานกลาง พืชในที่ลุ่มได้ผลดี พืชในที่ดอนจะเสียหาย ถ้าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศตะวันตกจะเกิดความแห้งแล้งข้าวยากหมากแพงจะรบพุ่งฆ่าฟันกัน

            การกำหนดวันกำฟ้า

            ประเพณีกำฟ้า ของลาวพวนบ้านป่าแดง กำหนดวันงาน 2 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำต้อน และวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า

            วันกำต้อน  (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3) เป็นวันเตรียมการก่อนวันงาน 1 วัน ทุกคนจะหยุดทำงาน กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตน ตั้งศาลพระภูมิบายศรีของพรจากเทพยดาช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลตามคำที่กล่าวว่า “ฝนบ่ละเดือนสาม ฝนบ่หามเดือนสี่ละแท้ ๆ คือเดือนยี่เดือนเดียว”   ชาวพวนจะจัดเตรียมอาหารหวานคาว ข้าวปุ้น (ขนมจีน) เผาข้าวหลาม ไว้ทำบุญในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันกำฟ้า และจัดไว้เลี้ยงดูแลญาติพี่น้องตลอดจนแขกที่มาเยือนตอนค่ำจะเป็นการเริ่มกำ หมายถึงทุกคนต้องหยุดงานดังคำกล่าวที่ว่า “ครกบ่เห้อต้องน้องบ่เห้อตำ”   กลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตะหมากเบี้ย ต่อไก่ ลูกช่วง รำแคน โดยออกไปเล่นตามคุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

            วันกำฟ้า   (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) เป็นวันงาน ตอนเช้าจะทำบุญตักบาตรสู่ขวัญข้าว ตอนกลางวันแสดงการละเล่นพื้นบ้าน    เช่น    นางกวัก นางดัง นางสาก ถ่อเส้า ขี่ม้าหลังโปะ ไม้อื้อ มอญซ่อนผ้า ตอนเย็นจะนำข้าวปลาอาหารมาร่วมรับประทานกัน ตอนกลางคืนจะเล่นเตะหมากเบี้ย ลูกช่วง ต่อไก่ รำแคน มอญซ่อนผ้า

            ปัจจุบันหน่วยงานทางราชการและพ่อค้าประชาชนสนับสนุนส่งเสริมให้อนุรักษ์งานกำฟ้าเป็นงานประเพณีพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประจำหมู่บ้านของลาวพวน จนกระทั้งงานกำฟ้าบ้านป่าแดงได้รับการจัดให้เป็นประเพณีสำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอำเภอตะพานหิน




งานประเพณีแห่เจ้าพ่อแก้ว

            การจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อแก้วมีมานานประมาณ 80 – 90 ปี เดิมจัดกันที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อริมแม่น้ำน่าน เพราะมีบริเวณหาดริมแม่น้ำกว้างพอที่จะตั้งโรงงิ้วได้ ต่อมาน้ำเซาะเข้ามามากจึงย้ายไปจัดที่บริเวณโรงเรียนโถงจื้อ เดิมมีมหรสพเพียงงิ้วแต้จิ๋ว 1 โรง และงิ้วไหหลำ 1 โรง และขบวนแห่งิ้วก็มีเพียงล่อโก๊ว กับขบวนสาวงามแห่เปีย (ธง) รอบตลาดเท่านั้น ราว 30 ปีต่อมาได้จัดให้มีมหรสพต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ลิเก ภาพยนตร์ จนบริเวณที่จัดเดิมคับแคบลง ใน พ.ศ.2501 นายวิเชียร นันทพิบูลย์ นายกยุวพุทธิกสมาคมบางมูลนาก ซึ่งเป็นประธานกรรมการจัดงาน ได้ย้ายไปจัดงานในบริเวณสนามหน้าที่ทำการเทศบาลเมืองบางมูลนาก ซึ่งกว้างขวางกว่าและได้จัดงาน ณ ที่นี้เรื่อยมาตราบจนกระทั่งบัดนี้
            ใน พ.ศ.2509 นายแพทย์พยุง กลันทกพันธุ์ (คุณหมอแดง) ขณะดำรงตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก เป็นประธานกรรมการจัดงาน ได้เริ่มจัดงานในรูปแบบประสมประสานมหรสพต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้งานครึกครื้นยิ่งขึ้น คือนอกจากจะมีงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำอย่างละ 1 โรงแล้ว ยังมีภาพยนตร์ ลิเก ลำตัด รำวง ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน และในปีนี้ เจ้าพ่อแก้วได้มาประทับทรงเด็กหญิงผู้หนึ่งสามารถพูดภาษาจีนได้คล่องด้วยสำเนียงของชายชรา เจ้าพ่อแก้วเล่าถึงประวัติความเป็นมาต่าง ๆ ให้คนในตลาดฟังและสิ่งหนึ่งที่เจ้าพ่อมีความประสงค์ก็คือ ขอให้ชาวตลาดจัดงานวันเกิดให้ท่านด้วยโดยกำหนดหลังวันจากวันตรุษจีนไปแล้ว 12 วัน ซึ่งก็จะตกราว ๆ ปลายเดือนมกราคมหรือต้
นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตั้งแต่นั้นมาคณะกรรมการจัดงานจึงได้จัดงาน “วันเกิดเจ้าพ่อแก้ว” อีก 3 วัน 3 คืน เมื่อแรกที่จัดนั้นจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีน 10 – 20 โต๊ะ แต่ต่อมาด้วยความเสื่อมใสของผู้คนในตลาดที่มีต่อเจ้าพ่อ ต่างพากันมาจองโต๊ะกินเลี้ยงมาเกือบ 200 โต๊ะ ส่วนมหรสพนั้นมีไม่มีมากเหมือนงานประจำปี แต่ยืนพื้นก็คือ งิ้ว ภาพยนตร์ และลิเก
            แม้ว่า “เจ้าพ่อแก้ว” จะเป็นเทพเจ้าที่เคารพสักการะของชาวจีน แต่คนในท้องถิ่นก็ยอมรับนับถือเป็นการผสมผสานกันในด้านของวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน การนับถือเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีในมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา เพราะมนุษย์มีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจสักอย่างหนึ่งแล้ว จะทำให้เขามีความอบอุ่นใจ และเกิดความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น คนไทยแม้จะนับถือพระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ก็ยังมีศาลพระภูมิไว้กราบไหว้บูชาประจำบ้านเรือนอีกด้วย ชาวเขาทุกเผ่าในไทยล้วนนับถือ “ผี” กันทั้งนั้น คนจีนก็เช่นเดียวกับคนไทย นอกจากจะมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแล้วยังมี “ตี่จู้” ประจำบ้านเรือน ถือเป็นศาลพระภูมิหรือเจ้าที่เจ้าทางอย่างของคนไทย และที่จะขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกชุมชนที่เขาเข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน จะต้องมีศาลเจ้า “ปุงเท่ากง” หรือ “บุนเถ้ากง” ไว้ เพื่อสักการบูชา อันจะทำให้เขามีความร่มเย็นเป็นสุขและทำมาหากินร่ำรวย
         
            การสักการะ “เจ้า” มีการเซ่นไหว้ด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน และของกินที่เรียก “โหงวแซ”   (เครื่องสังเวย 5 อย่าง อันได้แก่ หมู เป็ด ไก่ ปลา ผลไม้) หรือผลไม้ เช่น ส้ม แอปเปิ้ล นั้นก็คือการแสดงความคารวะนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ อันการเคารพนพไหว้ต่อบุคคลอื่นที่ควรเคารพ เช่น เทพยดาอารักษ์ก็ดี ท้าวพญามหากษัตริย์ก็ดี    ผู้มีอำนาจเป็นเจ้าเป็นใหญ่ก็ดี     ตลอดจนวิญญาณของบรรพบุรุษก็ดี ล้วนเป็นสิ่งดีงาม เป็นมงคล ทั้งสิ้น
         
            ด้วยธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่เหมือนกันเช่นนี้ ทั้งในด้านการมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และกตัญญูกตเวที คนไทยและคนจีนจึงอยู่ด้วยกันได้อย่างสนิทสนมกลมเกลียว งานประเพณีเจ้าพ่อแก้ว จึงนับเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจของคนจีนและคนไทยให้รักกันอย่างแน่นเฟ้นเป็นอย่างยิ่ง มิได้เป็นข้อผิดแผกแตกต่างให้อยู่คนละพวกคนละหมู่แต่อย่างใดเลย คำกล่าวที่ว่า “คนจีนกับคนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” จะเห็นได้ชัดเจนในงานประจำปี “เจ้าพ่อแก้ว”
           
             การดำเนินการจัดงานเจ้าพ่อแก้วนั้นจะทำให้รูปคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์เจ้าพ่อแก้วและจะอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปีเต็มคือ ตั้งแต่ 1 มกราคม ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ศกเดียวกัน วิธีการคัดเลือกกรรมการ หรือ “เท่านั้ง” นี้ จะกระทำกันที่ศาลเจ้าชั่วคราว บริเวณที่จัดงานวันเกิดเจ้าพ่อ และจะจัดคัดเลือกในวันกินเลี้ยง หรือ “กินโต๊ะเจ้า” นั้นเอง วิธีการคัดเลือกจะกระทำดังนี้ คือ มีเจ้าหน้าที่เขียนชื่อบุคคลจับวางไว้ในจานทีละชื่อเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจะเสี่ยงทายด้วยไม้ “ปัวะปวย” ซึ่งเป็นไม้สองอันประกบกัน มีลักษณะคล้ายเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ผ่าซีกแต่ใหญ่กว่า วิธีเสี่ยงทายจะทำถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกและครั้งที่สอง เมื่อโยนแล้วไท้จะต้องคว่ำอันหงายอัน ครั้งที่สาม เมื่อโยนแล้ว ไม้จะต้องคว่ำทั้งคู่บุคคลผู้นั้นถึงจะได้เป็น “เท่านั้ง” เท่านั้งนี้เป็นได้ทั้งชายและหญิง ถ้าเสี่ยงทายไม่เป็นไปตามนี้ ผู้นั้นก็หมดสิทธิ์ที่จะได้เป็น ต้องจับฉลากชื่อคนอื่นต่อไป จนกระทั่งได้ครบ 20 คน แล้วพอ เท่านั้งทั้ง 20 คนนี้จะไม่มีสิทธิ์ได้รับจับชื่อเสี่ยงทายติดต่อกันไปนาน 3 ปี พ้น 3 ปีแล้วจึงจะมีสิทธิ์ได้รับเลือกใหม่ “เท่านั้ง”   ถือกันว่าเป็นผู้ได้รับการอนุมัติจากเจ้าพ่อแก้วให้เป็นเจ้าภาพจัดงานให้ท่านได้ ผู้ได้รับการคัดเลือกถือว่าเป็นผู้มีบารมีและเป็นเกียรติยศอย่างสูงบางคนแม้จะร่ำรวยมีฐานะดี แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งนี้เลยจนตลอดชีวิต
           
             จากนั้น เท่านั้งทั้ง 20 คนจะเลือกประธานกรรมการคนหนึ่ง และจะแบ่งหน้าที่กันไปทำตามความถนัดและความเหมาะสมต่อไป เท่านั้งที่คัดเลือกไว้จะเริ่มบทบาทหรือรับช่วงดำเนินการจัดงานในปีถัดไป เป็นการคัดเลือกไว้ล่วงหน้าถึง 1 ปี
         
             แต่ก่อนนั้นไม่ใคร่มีใครรับเป็นเท่านั้ง เพราะเหตุว่าเป็นกรรมการหรือเท่านั้งจะต้องรับภาระและเหน็ดเหนื่อยมาก รวมทั้งจะต้องมีเงินใช้จ่ายมากด้วย เนื่องจากแต่ก่อนการจัดงานประสบกับการขาดทุนอยู่เสมอ เพิ่งจะมามีกำไรระยะหลัง ๆ นี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่เคยเป็นเท่านั้งในภายหลังจะประสบแต่ความสุขความเจริญ ทำมาค้าขึ้น มีฐานะร่ำรวย ต่อมาหลายคนอยากเป็นเท่านั้ง หากเมื่อใช้วิธีเสี่ยงไม้ “ปัวะปวย” ดังกล่าว จึงไม่มีปัญหา
          
  พิธีแห่เจ้าพ่อแก้ว

            จะจัดขึ้นในงานวันที่สอง ซึ่งมักจะเป็นวันเสาร์ และเป็นวันเชิญเจ้าพ่อออกจากศาลมาสู่ศาลชั่วคราวที่สนามหน้าโรงงิ้ว  “ผู้รู้” คืออาแป๊ะหยูจะเป็นผู้หาฤกษ์ยามให้ เล่ากันว่าเคยมีผู้ฝืนฤกษ์ ทำให้เกิดไฟไหม้ตลาด จึงเป็นเรื่องที่ถือกันมากในเรื่องนี้ เมื่อได้ฤกษ์จะมีพิธีการจุดธูป จุดประทัดบูชาเจ้าพ่อ แล้วบอกกล่าวอัญเชิญ จากนั้นก็จะอุ้งองค์เจ้าพ่อขึ้นประทับยังเกี้ยว บรรดาผู้หามเกี้ยวก็จะวิ่งพาเกี้ยวออกจากศาล แล้วแห่ไปตามถนนสายต่างๆ พร้อมขบวนแห่ซึ่งมีล่อโก๊ว สิงโต เองกอ ติดตามด้วยขบวนแห่เปีย (ธง) ของสาวงามวัยแรกรุ่นแต่งกายอย่างสวยงาม เป็นการประกวดประขันกันไปในตัว นอกจากนี้ยังมีขบวนหาบกระเช้าของเด็กเล็กวัยอนุบาลซึ่งแต่งตัวอย่างน่ารักน่าเอ็นดู พร้อมกันนี้ก็ยังมีขบวนฟ้อนรำ หรือกิจกรรมเข้าจังหวะของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลประมาณ 5 – 6 โรง เข้าร่วมขบวนแห่ด้วยทุกปี
         
             ขบวนหามเกี้ยวเจ้าพ่อผ่านไปถึงหน้าบ้านใคร เจ้าของบ้านก็จะออกมาจุดธูปบูชากลิ่นไม้จันทร์และควันธูปจะหอมฟุ้งตลบอบอวนไปทั่ว เสียงประทัดจะดังรัวอยู่มิได้ขาด ขบวนฟ้อนรำของนักเรียนจะหยุดแสดงให้ชมเป็นระยะ ตามสี่แยกหรือจุดที่สำคัญ  ส่วนขบวนสิงโต ล่อโก๊ว ก็จะรัวฆ้อง กลอง ด้วยจังหวะที่เร้าใจ เข้าร้านโน้นออกร้านนี้ พร้อมกับรับ “อั้งเปา” มากบ้างน้อยบ้างติดมือเป็นรางวัล เพราะเขาถือว่าขบวนเหล่านี้เชิญเซียนหรือเทวดาเข้าบ้านนำสิริมงคลและความสวัสดีมีชัยมาให้ ทุกบ้านจึงมีแก่ใจต้อนรับไม่รังเกียจ ขบวนแห่เจ้าพ่อจะแห่ตั้งแต่เช้าเข้าไปยังตรอก ซอกซอยและถนนเกือบจะทั้งตลาด จนเกือบประมาณพบค่ำก็เป็นเวลาได้ฤกษ์ถึงศาลชั่วคราว เมื่อจะเชิญเจ้าพ่อเข้าประทับยังศาล ล่อโก๊ว สิงโต เองกอ ก็จะบรรเลงและแสดงถวายเจ้าพ่ออย่างเอิกเกริก พร้อมกับเสียงประทัดก็ดังรัวขึ้นอย่างหูดับตับไหม้อีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธีแห่เจ้าพ่อแต่เพียงนี้ รวมเวลาแล้วตลอดทั้งวัน ผู้เข้าร่วมแห่จะทั้งสนุกสนาน ทั้งเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน แต่ทุกคนก็อิ่มใจ ภูมิใจ และสุขใจ
         
             เวลากลางคืนมีมหรสพให้ชมฟรี และเกมสนุกที่ต้องควักเงินจ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ รถซิ่ง ยิงเป้า แสดงประชันกันทั้งแสงและเสียง ใครใคร่ซื้อสินค้าอะไรจะรับประทานอะไรก็เลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย ทางด้านศาลเจ้านั้น บรรดาเท่านั้งก็จะเริ่มประมูลของ ส่งเสียงประกาศแข่งกับเสียงงิ้วเป็นที่สนุกครึกครื้น
        
              การประมูลของนั้นจะจัดทำในวันที่สองของงาน ทั้งงานประจำปีและงานวันเกิด คณะกรรมการจะนำสิ่งของที่มีผู้บริจาคถวายเจ้าพ่อ ทั้งของกินของใช้ออกมาประมูล ของกินได้แก่ ขนม ผลไม้ มีส้มและแอปเปิ้ล รวมทั้งสุราต่างประเทศ ของใช้ก็มีพัดลม วิทยุ โทรทัศน์ นาฬิกา และอื่นๆ อีกจิปาถะ บรรดาเจ้าของร้านค้าในตลาดจะเป็นผู้มาประมูลของ สิ่งของเหล่านี้หากมีผู้เสนอราคาขึ้น ถ้ากรรมการนับ 1 – 3 แล้ว ไม่มีใครให้ราคาที่สูงกว่า ก็จะลั่นฆ้องขึ้น 3 ครั้ง เป็นอันว่าผู้นั้นเป็นผู้ได้ของไป สิ่งของที่มีผู้ประมูลให้ราคามากกว่าสิ่งของใด ๆ ก็คือ “ทีตี่เต็ง” หรือ “ทีตี่แป่ป้อ” คือ “ตะเกียงฟ้าตะเกียงดิน” ลักษณะเป็นลำไม้ไผ่ตรง สูงประดับด้วยโคมไฟระย้าบนยอด ในแต่ละปีจะมีผู้ประมูลได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท บางปีจะประมูลในราคาที่สูงถึง 200,000 บาท เหตุที่มีผู้ให้ความสำคัญต่อ “ทีตี่เต็ง” มากเช่นนี้ก็เพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ “ทีตี่เต็ง” ไปประดับหรือบูชาที่บ้าน จะทำให้ทำมาค้าขึ้น มีโชคดีประสบแต่ความสุขความเจริญ ในแต่ละปีนั้นจะได้เงินมาจากการประมูลสิ่งของเป็นกอบเป็นกำนับเป็นเงินหลายล้านบาท การประมูลของนี้จะกระทำไปจนถึงคืนสุดท้ายของงาน ตราบจนได้ฤกษ์เชิญเจ้าพ่อไปประดิษฐานยังศาลเดิม ซึ่งก็จะเป็นเที่ยงคืนไปแล้วของทุกปี
        
              มีการถือเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อจะเชิญเจ้าพ่อกลับนั้น จะต้องเปลี่ยนเส้นทางจากตอนที่เชิญมา และจะต้องหามเกี้ยววิ่งออกเช่นเดียวกันเมื่อตอนขามา ตอนที่เชิญเข้าสู่ศาลถาวรก็จะต้องโห่ให้กึกก้องด้วย ความเชื่ออย่างหนึ่งที่เล่ากันสืบทอดมาจากเมืองจีน คือ ครั้งหนึ่งผู้คนพากันน้อยใจและโกรธแค้นที่เจ้าไม่ช่วยดลบันดาลให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้ผู้คนพากันอดอยากยากจนติดต่อกันมาหลายปี เมื่อถึงเทศกาลไหว้เจ้า ก็พาเจ้าออกแห่ แต่แห่ด้วยอาการไม่เรียบร้อยเช่นเคย มีการกระแทกกระทั้นเพื่อให้เจ้าได้รับรู้ว่าผู้คนเกิดความไม่พอใจ ปรากฏว่าปีนั้นฟ้าฝนเกิดตกต้องตามฤดูกาล ผู้คนก็ทำมาหากินเพราะปลูกได้ตามปกติอยู่กันเป็นสุขสืบมา อีกกระแสหนึ่งสาเหตุที่ต้องหามเกี้ยวเจ้าพ่อแก้ววิ่งออกจากศาลและวิ่งกลับศาลนั้น นายแก้ว แสงอินทร์ เจ้าพิธีการสำคัญคนหนึ่งผู้มีความเคารพเลื่อมใสในองค์เจ้าพ่ออย่างแนบแน่นสืบมาแต่รุ่นบิดาได้ให้เหตุผลว่า  การที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อเพิ่มพลังหรืออิทธิฤทธิ์ให้เกิดขึ้นในองค์เจ้าพ่อ การที่หามเกี้ยวเจ้าพ่อด้วยท่าทางเรียบ ๆ เชื่อง ๆ เงื่องหงอยนั้น ทำให้ดูไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์
           
            อภินิหารเจ้าพ่อแก้ว มีเล่าสืบกันมาหลายเรื่อง กล่าวคือ

            เรื่องที่ 1 ล๊อตเตอรี่เจ้าพ่อที่ผู้ประมูล “ทีตี่เต็ง” จะต้องได้ไปด้วยนั้น แทบทุกรายจะถูกรางวัลใหญ่ ไม่รางวัลใดก็รางวัลหนึ่ง และผู้ที่โชคดีก็มักจะนำเงินรางวัลที่ได้มาถวายเจ้าพ่อกลับคืน เพื่อเป็นทุนจัดงานสืบต่อกันไป

            เรื่องที่ 2 ในงานวันเกิดเจ้าพ่อ นอกจากจะมีการเสี่ยงทายเลือก “เท่านั้ง” แล้วก่อนเชิญกลับศาล ก็จะมีการเสี่ยงไม้ “ปัวะปวย” ถามเรื่อง 3 เรื่องทุกครั้ง คือ 1.ชาวตลาดบางมูลนากจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือไม่ 2.การค้าขายจะดีหรือไม่ 3.ข้าวปลาจะได้ผลดีไหมถ้าท่านทักข้อใดเหตุการณ์ก็มักจะเป็นไปตามนั้น

            เรื่องที่ 3 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในตลาดบางมูลนาก เมื่อ พ.ศ.2484 ก่อนจะเกิดเหตุขึ้นนั้น ในวันรุ่งขึ้นหลังจากเสร็จงานประจำปีแล้ว เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เจ้าพ่อได้ไปเข้าทรงหญิงสาวคนหนึ่งทางฝั่งวัดบางมูลนาก ร่างทรงได้พูดเป็นสำเนียงชายชรา แต่เป็นภาษาไทยว่าให้ไปตามเจ๊กห้อยฝั่งตลาดมาพบ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้จักคนชื่อนี้ เจ้าพ่อจึงกล่าวว่าเป็นเจ๊กตีเหล็กร้านลี้เต็กเส็ง เมื่อคนไปตามเจ๊กห้อย (บิดาของนายแก้ว แสงอินทร์) มาถึงแล้วก็ชงน้ำชาถวาย ปรากฏว่าน้ำชาร้อนๆ ที่ชงน้ำเดือดใหม่ๆ ร่างทรงดื่มได้อย่างสบาย มิได้แสดงอาการว่าร้อนแต่อย่างใด เจ้าพ่อในร่างทรงได้นอกกับทุกคนในที่นั้นว่า ให้ระวังให้ดีจะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจริงตามที่เจ้าพ่อทำนายไว้

            เรื่องที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2528 หลังจากที่เสร็จงานประจำปีเจ้าพ่อแล้ว 1 วัน ก็จะเกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านไม้เก่าแก่หลังหนึ่งซึ่งสร้างอยู่เหนือศาลเจ้าพ่อขึ้นไปเล็กน้อย ไฟได้ไหม้บ้านหลังนั้นวอดวาย มีคนถูกไฟคลอกตายด้วย 1 คน ในละแวกนั้น มีบ้านเรือนติดกันอยู่หนาแน่น ไฟน่าจะลุกลามมากกว่านั้น แต่ด้วยเดชะบารมีเจ้าพ่อได้ปัดเป่าความพินาศไปไม่ให้เกิดมากกว่านั้น โดยมีผู้เล่าว่า เมื่อบอกกล่าวเจ้าพ่อให้ช่วยแล้ว ปรากฏว่าลมที่พัดกระพือได้หยุดลงและมีฝนตกลงมา ไฟก็เริ่มมอดลงเป็นอัศจรรย์

            เรื่อง ที่ 5 มีเจ้าของร้านขายยาแห่งหนึ่ง    ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอโข่ง” ได้พูดเล่นๆ ว่า ถ้าตนได้เป็นเท่านั้ง จะหาเมียให้เจ้าพ่อ ครั้นปีต่อมา หมอโข่งได้รับเลือกให้เป็นเท่านั้งด้วยคนหนึ่ง ก็นึกถึงคำพูดที่ได้พูดไว้จึงไปปรึกษากับนายแก้ว แสงอินทร์ พิธีการคนสำคัญว่าจะหาเจ้าแม่หรือ “ปุงเท่าม้า” มาให้เจ้าพ่อ จะต้องทำประการใด ก็มีการเข้าทรงถามท่าน เจ้าพ่อบอกว่า ไม่ต้องการ ท่านอยากอยู่เป็นโสดเพราะถ้าท่านมีเมียแล้ว ภาระที่จะต้องคอยดูแลตลาดและปกป้องรักษาลูกหลานจะลดน้อยลงไป ความดำริของหมอโข่งก็เลยต้องเลิกล้ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น